ในปี พ.ศ. 2517 แม่ (ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ เบรดี), น้ารัน (เรวัติ พุทธินันท์) และลูกๆช่วยกันพังประตูเข้าไปในห้องของน้ำพุ (อำพล ลำพูน) ซึ่งอยู่ในสภาพตาเหลือก ไม่มีสัญญาณใดๆที่บ่งบอกถึงการมีชีวิต และหอบหิ้วกันขึ้นรถเพื่อนำตัวไปโรงพยาบาลในสภาพทุลักทุเล หมอกับพยาบาลกำลังยื้อยุดฉุดชีวิตของน้ำพุกับความตาย ห้วงคำนึงของแม่คิดถึงความเป็นมาเกี่ยวกับเด็กหนุ่มผู้วายชนม์ที่ต้องบอกว่ามันเริ่มต้นด้วยความโชคร้ายทีเดียว ตั้งแต่การเป็น ‘ไอ้เด็กเกิดวันที่สิบสาม ไอ้ตัวซวย’ ตามคำบริภาษของผู้เป็นพ่อ (สุเชาว์ พงษ์วิไล) ในห้วงยามที่ฝ่ายหลังเดือดดาล ตามมาด้วยการเป็นลูกผู้ชายเพียงคนเดียว และไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นตุ๊กตากับพี่ๆน้องๆต่างเพศกัน บ้านของเขาต้องกลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างพ่อแม่ที่ทะเลาะเบาะแว้งและถึงขั้นลงไม้ลงมือต่อหน้าต่อตาน้ำพุเป็นประจำ แต่บางที สิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตราบาปที่ฝังแน่นในจิตใจของน้ำพุก็คือการที่เขาถูกผู้เป็นพ่อทำให้รู้สึกว่าเป็นต้นเหตุให้แม่ตัดสินใจหอบลูกๆทั้งหมดออกจากบ้านไป ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว พ่อของน้ำพุใช้มีดตัดสายป่านจนขาด อันเป็นเหตุให้เด็กน้อยไปฟ้องแม่ด้วยน้ำตานองหน้า และแม่สั่งให้ลูกๆทุกคนเก็บข้าวของออกจากบ้าน และ “เราจะไม่กลับมาเหยียบบ้านนี้อีก” เป็นเพียงแค่ฟางเส้นสุดท้ายของความขัดแย้งระหว่างคนเป็นพ่อแม่เท่านั้นเอง ต่อมา น้ำพุกับเพื่อนที่ชื่ออ๊อด (กฤษณะ จำปา) ซึ่งยังเป็นนักเรียนมัธยม กำลังชักชวนกันหนีโรงเรียนและเพิ่งจะรอดพ้นจากการถูกสารวัตรนักเรียนจับกุม น้ำพุยังนับว่าดีกว่าของอ๊อดที่พ่อแม่ไม่เพียงแยกทางกัน หากตัวเขายังถูกส่งไปอยู่กับลุง ขณะที่น้ำพุยังได้อยู่กับแม่ของตัวเอง การอยู่ตามลำพังกับแม่ของน้ำพุ ขณะที่พี่น้องคนอื่นๆถูกส่งไปอยู่กับญาติ แม่ของน้ำพุซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากชนชั้นกลางในเมืองหลวงทั่วๆไปที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่บีบรัดตัว เพราะตระหนักว่าการงอมืองอเท้าและไม่ทำอะไร รังแต่จะนำไปสู่ความล้าหลัง, ถดถอยและความยากจน ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ และกลับบ้านดึกๆดื่นๆตลอดเวลา นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงการที่แม่ไม่อาจตัดตัวเองขาดจากสังคม และมีเรื่องให้ต้องสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเป็นประจำ หรือกระทั่งมีแฟนใหม่ ซึ่งมองในมุมของคนที่ต้องแบกภาระอะไรไว้มากมาย มันเป็นการแสวงหาการปลอบประโลมมากกว่าความฟุ่มเฟือย น้ำพุกลับบ้านซึ่งเป็นเพียงห้องพักเล็กๆ ที่ขอแบ่งเช่าบนตึกแถวเพื่อมาอยู่กับตัวเองจึงดูเหมือนจะเป็นสภาวการณ์อันเป็นปกติธรรมดา ที่แม่ของน้ำพุต้องเดินทางไปเมืองนอก 2-3 เดือน และหนุ่มน้อยถูกส่งไปอยู่กับลุงและป้า ชีวิตน้ำพุก็ค่อยๆโน้มเอียงไปในทางเพื่อนๆ ซึ่งมี ’หน้าตาแปลกๆ’ โผล่เข้ามา หนึ่งในนั้นก็คือใหม่ (ปิติ จตุรภัทร์) ผู้ซึ่งก็เหมือนกับอ๊อดและน้ำพุตรงที่พ่อแม่แยกทางกัน แต่ที่หนุ่มน้อยคนนี้พกติดตัวมามากกว่าใครๆก็คือ ความโกรธเกลียดและคับแค้นพวกผู้ใหญ่ทุกๆคน น้ำพุไม่เคยมีความสุขกับบ้านหรือครอบครัวเลย เพราะหลังจากที่แม่สามารถเก็บหอมรอมริบ จนกระทั่งสามารถดาวน์บ้านเป็นของตัวเอง และลูกๆทุกคนได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มันก็นับเป็น ‘วันชื่นคืนสุข’ สำหรับน้ำพุอย่างแท้จริง ระหว่างเขากับพี่หน่อย (นิศา มุจลินทร์กุล) และหนูแดง (กนกวรรณ บุรานนท์) มักจะมีเรื่องให้ระหองระแหงใจเป็นประจำ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ทุกคนได้กลับมาเป็นครอบครัว ต่อมา น้ารัน เพื่อนสนิทรุ่นน้องของแม่ ขออาศัยอยู่ด้วยและกลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่น้ำพุจะรู้สึกว่าน้ารันเป็นเสมือนส่วนเกินหรือกระทั่งภัยคุกคามต่อความมั่นคงในครอบครัว ต่อมา น้ำพุซึ่งอยู่ในห้องนอนของตัวเอง แอบสูบกัญชาและผล็อยหลับไปพร้อมกับฝันว่าตัวเขากำลังเล่นว่าวกับผู้เป็นแม่กลางทุ่งกว้างตามลำพังสองคน ก่อนที่มันจะสิ้นสุดลงด้วยภาพของน้ำพุ นอนตระกองกอดแม่ของตัวเองและหลับไป น้ำพุพยายามประท้วงการมาของน้ารันโดยแสวงหาแนวร่วมจากศัตรูเก่าของตัวเอง นั่นก็คือการนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปฟ้องพ่อ คงจะด้วยหวังว่า บางที พ่ออาจจะช่วยจัดการอะไรได้ แต่มันก็การดิ้นรนที่สูญเปล่าและไม่เกิดดอกผลแต่อย่างใด เพราะพ่อของน้ำพุได้แต่หมกมุ่นอยู่กับการเขียนรูปและไม่แสดงให้เห็นถึงความยี่หระต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก น้ำพุอับจนหนทางและต้องเอ่ยปากสารภาพกับแม่อย่างไม่ปิดบังว่าเขาติดยา ในบรรดาความรู้สึกอันหลากหลายที่ประดังประเดเข้ามาพร้อมๆกัน ทั้งตกตะลึงและไม่อยากจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองได้ยิน มีอยู่แว่บหนึ่งที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ก็คือความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของแม่ที่ลูกชายไม่นึกถึงเธอ จึงเดินทางไปวัดถ้ำกระบอกกับเพื่อนเพื่อเลิกยา แต่เมื่อเขากลับมาบ้านอีกครั้ง เขากลับไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีเท่าที่เขาคาดหวัง จึงเกิดความรู้สึกน้อยใจตามประสาวัยรุ่น จึงฉีดเฮโรอีนเกินขนาด
หมวดหมู่หนัง
ปีที่หนังเข้าฉาย